โดย ณัฐนนท์ นาคคง

บ้านนับว่าเป็นหนึ่งในต้นทางของขยะ ที่มีอยู่แทบทุกมุม ทุกห้อง ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องทำงาน หรือห้องเก็บของ ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระบุว่า “ขยะภายในบ้านหนึ่งหลัง มีมากกว่า 1,400 ชนิด” (บลู โพลูชัน, 2565)​ ดังนั้นการคัดแยกขยะจากบ้านจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และขยะเหล่านี้จะไม่กลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าหากเราจัดการอย่างถูกวิธี และนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้ 

วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้แนวคิดและแนวทางของครอบครัวหนึ่ง ที่ได้เปลี่ยนการคัดแยกขยะจนรกบ้าน ให้กลับมาเรียบร้อย สะอาดตา และได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย

บ้านคุณบอย เป็นครอบครัว 3 คน ประกอบด้วย คุณบอย ภรรยา และเจ้าตัวเล็ก อายุเฉลี่ย 27 ปี ตัวคุณบอยทำงานเป็นสถาปนิก ส่วนคุณภรรยาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเหมือนกับครอบครัวทั่วไป ชอบอ่านหนังสือ ดูหนัง/ซีรี่ย์ ทำอาหาร อบขนม เล่นดนตรี และจ่ายตลาด แต่ที่ค่อนข้างต่างจากบ้านอื่นคือ “มีการคัดแยกขยะ” ที่เป็นพฤติกรรมติดตัวคุณภรรยามาตั้งแต่ก่อนจะคบกัน และลงมือทำต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะขยะมีเยอะ และได้ดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยพนักงานเก็บขยะด้วย ทว่ายิ่งคัดแยกบ้านก็ยิ่งรก จนมีกองขยะเกะกะไปหมด ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางใหม่

จุดเปลี่ยนสำคัญ

พื้นที่บ้านที่จำกัดทำให้ขยะที่คัดแยกแล้ว ถูกกองไว้ตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน มีมาก และมากขึ้นจนรับสภาพไม่ไหว มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นอีก จนเมื่อเมษาปี 65 วันหยุดยาวได้เดินทางมาถึงจึงได้เวลาจัดระเบียบใหม่ โดยตั้งโจทย์หลักไว้ว่า ต้องแยกได้หลากหลายเพียงพอ มองเห็นได้ง่ายไม่ทึบตัน และระบายอากาศได้ 

พื้นที่เดิมแต่แนวทางใหม่ 

คุณบอยและภรรยา ได้ออกแบบจัดการขยะในบ้านได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการคิดและตีโจทย์จนแตก ทำให้พื้นที่เท่าเดิม จัดการขยะได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ใครก็สามารถทำตามได้ เพียงนำโครงเหล็กสำเร็จรูปพร้อมตะแกรงที่หาได้ตามร้านวัสดุ มาประกอบเป็นชั้นวางของไว้ตรงมุมเดิมกับที่เคยใช้คัดแยกขยะ ควบคู่กับการเขียนประเภทขยะ และปลายทางขยะกำกับไว้ 

แต่เดิมทั้งสองคนมีความรู้ในการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ทำให้การเปลี่ยนแนวทางใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการคัดแยกที่ทำอยู่แล้ว แต่ทำให้มีระเบียบและง่ายขึ้น ซึ่งแบ่งขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะใช้ซ้ำ และเศษอาหาร (แยกนำไปทิ้ง) นำมาจัดเรียงดังนี้

‘ชั้นตะแกรงเล็ก’ ด้านซ้ายใช้เก็บขยะที่จะนำไปทิ้งหน้าบ้านให้ซาเล้ง ส่วนด้านขวาใช้เก็บขยะที่จะส่งไปยังโครงการรีไซเคิล เพื่อแปรรูป หรือ ทำพลังงานทดแทน

‘ชั้นตะแกรงใหญ่’ ชั้นบนสุดใส่ขยะกินพื้นที่ซึ่งมีปลายทางเดียวกัน เช่น ขวดพลาสติก และกล่องพลาสติก ส่วนชั้นกลาง และล่างเป็นถุงพลาสติก และถุงกระดาษใช้ซ้ำได้

‘ถังผ้า’ ใช้เก็บกล่องพลาสติกอาหารใช้ซ้ำ เนื่องจากต้องทำงานที่บ้านจึงทำให้สั่งอาหารบ่อย จนได้กล่องพลาสติกมามากมาย จึงคัดกล่องพลาสติกที่มีคุณภาพดีมาใช้ซ้ำ ส่วนพลาสติกที่กรอบแตกง่ายนำไปใส่ตะแกรงใหญ่ต่อ

‘ถังสเตนเลส’ ใช้เก็บขวดแก้ว และโหลแก้ว ที่คิดว่าจะนำมาใช้ซ้ำ

คัดแยกขยะอย่างมีเป้าหมาย

นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกองขยะในบ้านแล้ว อีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านนี้คัดแยกขยะ ก็เพื่อให้ขยะเหล่านี้เกิดประโยชน์มากที่สุดผ่านการ “บริจาค” ไปยังโครงการต่าง ๆ ตลอดจนคนขี่ซาเล้งที่สามารถทำให้ขยะกลับมามีคุณค่าได้ 

‘ถุงพลาสติกที่ยืดได้และฟิล์มพลาสติก’ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง ถุงซิปล็อก-ซองยา ถุงขนมปัง ถุงน้ำแข็ง ซองไปรษณีย์พลาสติก ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ ฟิล์มหุ้มกล่องนม และฟิล์มห่อสินค้า ฯลฯ ของเหล่านี้จะส่งไปที่ “วน” โครงการที่นำพลาสติกมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม

‘ถุงอาหารแมว’ ส่งไปที่ “โครงการกรีนโรด” ที่นำขยะไปทำเป็น ถนนสีเขียว บล็อกปูพื้น โต๊ะเก้าอี้ และวัสดุก่อสร้าง เพื่อนำไปบริจาคในโรงเรียน บวร วัด อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทั่วประเทศ

‘พลาสติกไม่ยืด’ เช่น สิ่งที่แกะจากไปรษณีย์ ถุงน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม หลอดยาสีฟัน เครื่องสำอาง ถุงขนม ซอสเครื่องปรุง ชุดชั้นใน และผ้าผสมพลาสติกหมดสภาพ ฯลฯ ส่งไปที่ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

‘ฝาพลาสติก หรือ พลาสติกแข็ง’ แยกฝาก่อน แล้วนำไปล้างและตากให้แห้ง ส่งไปบริจาคตามจุดรับของ “Precious Plastic Bangkok” โครงการรีไซเคิลพลาสติกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า

‘ขยะจำพวกโลหะ’ เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม ฝากระป๋อง อุปกรณ์โลหะที่ไม่ใช้แล้ว ฯลฯ พลาสติกรวม (ใส ทึบ ขุ่น) เช่น ฝาขนม กล่องข้าวนิ่ม และขวดนม ฯลฯ พลาสติกกรอบ เช่น ลังไข่พลาสติก ถาดขนมหวาน และใบเสร็จ ฯลฯ กล่องพิมพ์สี เช่น กล่องขนม และแกนกระดาษทิชชู ฯลฯ แก้ว ถุงแกง กล่อง ถ้วยอาหารกระดาษเคลือบพลาสติก ตลอดจนกระดาษรองอาหาร เป็นขยะที่แยกให้กับคนขี่ซาเล้งได้นำไปขายต่อได้

คัดแยกขยะแบบบ้านนี้ดีอย่างไร ? 

ความหลากหลายของขยะ ความเป็นระเบียบ เป็นสิ่งที่ได้รับตามที่ตั้งโจทย์เอาไว้ แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการได้คัดแยกขยะในบ้าน ก็คือความพึงพอใจคนในบ้านอย่างคุณบอยและภรรยาที่ได้ลงมือทำดีกว่ารอยู่เฉย ๆ การนำขยะกลับมาใช้ซ้ำได้ช่วยลดปริมาณขยะ  ส่วนที่ได้คัดแยกอย่างเป็นระบบก็ช่วยแบ่งเบาภาระของปลายทาง และสามารถนำไปใช้โประโยชน์ต่อไปได้อย่างเต็มที่ ในเวลาเดียวกันการคัดแยกขยะในบ้านยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะทั้งสองคนไม่แบ่งแยกหน้าที่ แต่ได้ร่วมด้วยช่วยกันทำ และยังมีเป้าหมายที่จะฝึกฝนให้ลูกได้สานต่อ

ท้ายที่สุดเมื่อมีเป้าหมายที่จะคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลและใช้ซ้ำ ทำให้คุณบอยและภรรยาสารมารถลดขยะในบ้านที่จะต้องถูกนำไปฝังกลบได้มากกว่า 50% ต่อเดือน

“เพราะพยายามใช้ซ้ำ ขยะจึงลดลง” คุณบอย

บทเรียนทีได้

  • การลองปรับเปลี่ยนแนวทางการคัดแยกขยะ อาจช่วยให้เจอวิธีการที่เหมาะกับบ้านและกิจวัตรประจำวันของเรามากขึ้น
  • การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากบ้านของเรา สร้างประโยชน์มากกว่าการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ เพราะยังมีผู้ที่พร้อมจะเพิ่มมูลค่าของขยะอ้าแขนต้อนรับอยู่เสมอ
  • นอกจากช่วยลดปัญหาขยะแล้วการคัดแยกขยะในบ้านยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว ทำให้คนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น เกิดเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระยะยาว 

รายการอ้างอิง

  • (Boyd Leungarram, การสื่อสารระหว่างบุคคล [Messenger], (15 กันยายน 2567)
  • Boyd Leungarram. (14 เมษายน 2565). ไอเดียแยกขยะในบ้าน [Facebook post]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/groups/219194202444930/permalink/601614487536231
  • Khaosod. (2565). ไอเดียเจ๋ง! หนุ่มแชร์วิธีการคัดแยกขยะ เปลี่ยนงานที่น่าเบื่อเป็นงานสนุก แถมช่วยให้บ้านเรียบร้อยสะอาดตา ชาวเน็ตแห่แชร์เพียบ. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_7004164
  • กองช่าง สุขาภิบาล. (2565). เปิดแหล่ง “ขยะในบ้าน” จุดกำเนิดของเสีย กำจัดยังไงดีก่อนบานปลายเป็นปัญหาใหญ่. สืบค้นจาก https://www.nakhonmaesotcity.go.th/webs/th/agencies/3/detail-news/N0001720.html

ภาพประกอบ 

  • จาก https://www.facebook.com/groups/219194202444930/permalink/601614487536231/
คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ