กทม. เข้าใจและรับรู้ปัญหาทางเท้า เร่งยกระดับทางเท้าให้ได้มาตรฐาน ทั้งทำใหม่ ซ่อมแซม และใช้นวัตกรรม มาช่วยให้ทางเท้า เป็นทางที่น่าเดิน เดินได้ เดินดี และปลอดภัย สามารถใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส โฆษก กทม. นำทีมส่องทางเท้านำร่องพื้นที่ราชดำริ-เพลินจิต #มาตรฐานทางเท้าใหม่ ทางเข้าออกอาคารเรียบเสมอทางเท้า พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเพิ่มความแข็งแรง ลดระเบิดน้ำดีดขา ก่อนขยายผล 16 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ 

โดยเดินหน้าดำเนินการใน 3 ส่วน เพื่อให้ทางเท้า กทม. เดินได้ เดินดี และน่าเดิน

  • การทำทางเท้าใหม่
  • การซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้า
  • การนำนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่มาปรับใช้

นอกจากนี้ สำนักการโยธายังได้มีการประสานงานกับหลากหลายหน่วยงานสาธารณูปโภค ลด ละ เลิก พฤติกรรมทำ ๆ ทุบ ๆ ทางเท้า

หลังจากทางเท้าแล้วเสร็จ สำนักงานเขตจะมีการดำเนินการดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และกวดขันจับ-ปรับรถจักรยานยนต์ที่จอด/วิ่งบนทางเท้าต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้มีอีกหนึ่งจุดที่โดดเด่นของราชดำริ-เพลินจิต คือ ฝาท่ออัตลักษณ์ที่มีความสวยงาม สะดุดตา แต่ไม่สะดุดเท้า ถือเป็นอีกหนึ่งกิมมิกและจุดเช็กอินของชาวฮิปย่านสยาม

มาตรฐานใหม่ 10 ข้อ เริ่มนำร่องกับ 16 เส้นทางในกรุงเทพฯ

  1. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
  2. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
  3. เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
  4. ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
  5. ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
  6. เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
  7. เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
  8. วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
  9. วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
  10. ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
  11. สำหรับเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา หรือ เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การขีดสีตีเส้นช่วยแบ่งแนวให้คนเดินเท้า การนำพอรัสแอสฟัลต์ซึ่งน้ำซึมทะลุได้มาล้อมคอกต้นไม้เพื่อเพิ่มความกว้างของทางเท้าให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

อ่านต่อข้อมูลเพิ่มเติม https://pr-bangkok.com/?p=307480

ผู้เขียน: วิทยา สปส.

คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ