โดย ณัฐนนท์ นาคคง

ทุกวันนี้เราได้ยินกันหนาหูเรื่องขยะล้นเมือง และนโยบายต่าง ๆ ก็มีความพยายามในการลดขยะ แต่ขยะก็ไม่มีท่าทีว่าจะหมดลงเลยแม้แต่น้อย ซึ่งขยะเหล่านี้ ตั้งแต่การผลิตไปจนการกำจัด มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกขั้นตอน เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ส่งผลต่อปัญหา Climate Change ที่เราต้องจัดการอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในผู้ที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ คือ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ภายในอาคารสำนักงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยมี “การจัดการขยะ” เป็นส่วนประกอบสู่ความสำเร็จ แต่ด้วยวิธีการใด และมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องมาเรียนรู้กัน

“ขยะ” เรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ 

ความจำเป็นเร่งด่วนของ Climate Change เป็นความตระหนักของธนาคารกสิกรมาตั้งแต่ปี 64 และมีความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) จึงได้เปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ แต่อีกหนึ่งในภารกิจสำคัญที่มีผลเชื่อมโยงกับ Climate Change เช่นกัน นั่นคือ การจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมในธุรกิจธนาคาร

โดยเฉพาะในอาคารหลัก 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานใหญ่พหลโยธิน อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารแจ้งวัฒนะ และอาคาร KBTG ซึ่งมีพนักงานหมุนเวียน ประมาณกว่า 8,000 คน มีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ของเสียจากอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ให้ได้ภายในปี 66 

พัฒนาต้นแบบอาคารสีเขียว

เพื่อนำร่องไปสู่การบริหารจัดการขยะในอาคารหลักของธนาคารกสิกร ปี 65 ธนาครกสิกรได้พัฒนาต้นแบบอาคารสีเขียว ชื่อว่า ‘KLOUD by KBank’ Innovative Iconic Green Building ในสยามสแควร์ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญมีการวางระบบการจัดการอย่างขยะทุกชิ้นภายในอาคารอย่างครบวงจร 

ด้วยการนำนวัตกรรมระบบการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร บนแพลตฟอร์ม ‘YOUเทิร์น’ จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มาใช้อย่างครอบคลุมตั้งแต่ระบบคัดแยกขยะที่ต้นทาง โดยมีทั้งเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ตู้รับคืนขวดพลาสติก รวมถึงระบบการเข้ารับ จัดเก็บ และนำขยะ  รีไซเคิลไป Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

เปลี่ยนอาคารมุ่งลดขยะฝังกลับ

จากเป้าหมายที่แน่วแน่ในการลดขยะฝังกลบเป็นศูนย์ จึงนำมาสู่การติดตั้งถังขยะกว่า 6 ประเภท ในอาคารสำนักงานหลักทั้ง 4 แห่ง เพื่อคัดแยกขยะ 6 ชนิด ได้แก่ เศษอาหาร วัสดุรีไซเคิล ขยะเผาเป็นพลังงาน ขยะปนเปื้อน ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสุดท้าย เพื่อให้เหลือของเสียไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลงและเป็นศูนย์ในที่สุด

พร้อม ๆ กับให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พนักงาน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ และกระตุ้นให้พนักงานได้ลงมือปฏิบัติจริง ผ่านแคมเปญ “ทิ้งถูกไม่ถูกทิ้ง” ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ เท-แยก-ทิ้ง เป็นการชวนพนักงานมาเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อสร้างพฤติกรรมการทิ้งที่ถูกต้อง ให้ขยะไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า และสามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดินหน้าสู่ความสำเร็จ

ครั้งอดีตเมื่อปี 64 ธนาคารกสิกรไทยนั้นมีขยะกว่า 5,494.61 ต้น แต่หลังจากการนำร่องการจัดขยะอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ในปี 65 สามารถลดปริมาณขยะลงเหลือ 4,918.38 ตัน หรือลดลงร้อยละ 10.49 นำไปรีไซเคิลได้ 1,504.82 และมีขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบ 3,413.58 ตัน ซึ่งผลรวมจากโครงการทั้งหมดของธนาคารกสิกรไทยได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 16.75 

จนเมื่อถึงปลายทางของเป้าหมาย ปี 66 ธนาคารกสิกรไทยลดปริมาณขยะลงได้อีกเป็น 4,166.97 ตัน หรือ ลดลงร้อยละ 15.28 โดยสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้ 1,879.22 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำกระดาษที่ไม่ใช้แล้วไปรีไซเคิลเป็นเยื่อกระดาษและนำกลับมาใช้ใหม่ ได้ 1,751 ตัน ที่ช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ 29,767 ต้น และท้ายที่สุดจึงมีขยะที่ต้องนำไปฝังกลบลดลงเหลือ 2,287.75 ตัน เท่านั้น

ถึงแม้จะยังไม่สามารถลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ธนาคารกสิการไทยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงปริมาณขยะที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่แสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการจัดการขยะภายในอาคารสำนักงาน เป็นหมุดหมายที่ดีให้กับพนักงานทุกคนรวมถึงธนาคารสิกร ได้เดินหน้าทำตามเป้าหมายเดิมต่อไป เพื่อไปมุ่งสู่การจัดการขยะจากอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ในที่สุด

บทเรียนการจัดการขยะธนาคารสิกรไทย

  • การตั้งเป้าหมายไว้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ช่วยให้กสิรกรไทยมีแนวทางที่ชัดเจน ไม่หลงทาง และจะนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การจัดการขยะให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แค่มีถังขยะยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกต้องด้วย 
  • โลกกำลังแย่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยจัดการขยะอย่างถูกวิธี

รายการอ้างอิง

  • ธนาคารกสิกรไทย. (2566). กสิกรไทยเดินหน้าเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill. สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/news/pages/zerowaste.aspx
  • รายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 2565. สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/sustainable-development/SDAnnualReports/Y2022_SD_TH.pdf
  • รายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 2566. สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/sustainable-development/SDAnnualReports/y2023-sd-th.pdf
  • THE STANDARD TEAM. (2566). สำรวจ KLOUD by KBank ต้นแบบอาคาร ‘กรีน’ ภายใต้แนวคิด ‘createYOURNiVERSE’. สืบค้นจาก https://thestandard.co/kloud-by-kbank/
คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ