โดย ณัฐนนท์ นาคคง
“กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสมดุลของระบบนิเวศทั่วโลก
ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ หรือ ห้างสรรพสินค้า เป็นสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะกับผู้คนในเมืองใหญ่ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างมาหาศาล การบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ จึงไม่อาจเลี่ยงการสร้างขยะสารพัดประเภทได้
ชวนมาศึกษาหนึ่งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ “สยามพารากอน” ภายใต้บริษัทสยามพิวรรธน์ ได้พัฒนาโครงการการจัดขยะแบบ 360 องศา “Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste” ในการบริหารจัดการของเสีบแบบครบวงจรตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คนมาก ขยะมากว่า
ในห้างสยามพารากอนมีขยะหลักอยู่ 2 ประเภท หนึ่งมาจากห้างเอง ตามร้านค้าต่าง ๆ หรือพนักงาน ส่วนนี้ห้างสามารถควบคุมได้มากที่สุด เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทุกคนต้องคัดแยกขยะ แต่ส่วนที่สองนี่แหละที่สำคัญ มาจากลูกค้าที่มาใช้บริการ ส่วนนี้ไม่จัดการไม่ง่ายเลย เพราะมีคนมาใช้บริการวันละหลายแสน ต่างคนก็มีพฤติกรรมแตกต่างกัน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ซึ่งสร้างขยะมากถึงวันละ 30 – 40 ตัน
สยามพิวรรธน์จึงได้ทำงานวิจัยการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับสถาบันพลาสติกและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สามารถจัดการขยะจากภายในได้ แต่ขยะจากภายนอกนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้บริการด้วย จึงได้จัดเตรียมพื้นที่แยกขยะถึง 8 ประเภท ร่วมกับการสร้างระบบสะสมคะแนน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
คัดแยกขยะแบบ “Drive-Thru”
จุดเริ่มต้นจากคำบ่นของลูกค้า “ทำไมต้องแยกขยะ” “แยกแล้วปลายทางก็เอาไปรวมกันอยู่ดี” หรือบางคนอยากทิ้งแต่ก็ไม่มีที่ให้ทิ้ง จึงนำมาสู่การตั้งจุดบริการรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้วแบบ Drive-Thru (Recycle Collection Center; RCC) ด้วยถังขยะกว่า 8 ประเภท ที่ออกแบบให้สังเกตได้ง่าย เด่นชัด สีสันสดใส อีกทั้งยังให้ความรู้ และยังกระตุ้นให้ลูกค้าแยกขยะมากขึ้น ด้วยการมอบ VIZ coins ให้กับลูกค้าที่นำขยะมาฝากส่งต่อที่จุด RCC ซึ่งสามารถนำไปใช้แลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่าน ONESIAM SuperApp
จะขนขยะใส่รถมา หรือถือนั่งรถไฟฟ้ามาทิ้งก็ได้ทั้งนั้น โดยมี 2 จุดหลัก ที่สยามพารากอน ห้างที่มีลูกค้ามาใช้บริการเยอะที่สุด จุดแรกคือจุดจอดรถทัวร์ตรงด้านหลังห้าง เป็นจุดใหญ่ จอดรถได้ มีพนักงานคอยช่วยเหลือ อีกจุดคือทางออกจากสยามพารากอนไปถนนอังรีดูนังต์
โดยขยะ 8 ประเภท ได้แก่ กระดาษ, แก้ว, อลูมิเนียม, ขวดน้ำ (PET) , พลาสติกยืด, พลาสติกแข็ง, กล่องนม, กล่องน้ำผลไม้ และ Multilayer (พลาสติกซองขนมขบเคี้ยว, ถุง Refill น้ำยาต่าง ๆ) ได้นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซคลิ่ง เพื่อเพิ่มมูลค่ากลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสมบูรณ์ และนำไปจัดแสดงและจำหน่ายที่อีโคโทเปีย (Ecotopia) พื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก
ร่วมมือกันแบบเครือข่ายสร้างความยั่งยืน
เพราะยังมีขยะเศษอาหารจำนวนมากที่ต้องจัดการด้วยเช่นกัน สยามพิวรรธน์จึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำอาหารที่รวบรวมได้ในแต่ละวันไปทำเป็นสารปรับปรุงดินด้วยเครื่องอบขยะเศษอาหาร เพื่อใช้ในการดูแลต้นไม้ภายในศูนย์ฯ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด และยังส่งให้กับโครงการ ไม่เทรวม ของ กทม. เพื่อทำปุ๋ยหมัก หรือจัดเก็บรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุช เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังส่งมอบกระป๋องอลูมิเนียมให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ นำรายได้จากการขายกระป๋องเพื่อรีไซเคิลใช้ในการผลิตขาเทียม ร่วมมือกับสำนักงานเขตปทุมวันในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ร่วมกับโครงการแยกขวดช่วยหมอร่วมกับ Less Plastic นำขวดพลาสติกใส (ขวด PET) ไปอัพไซเคิลผลิตเป็นชุด PPE มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนได้ร่วมโครงการถังวนถุงมือวิเศษXวนร่วมกับ PPP Plastics Thailand นำพลาสติกยืดสะอาดนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่
แม้แต่ขยะที่ไม่สามารถเอากลับไปรีไซเคิลได้ หรือที่เรียกว่า ขยะกำพร้า ก็ยังมีการบริหารจัดการ เพื่อนำไปทำเป็นขยะเชื้อเพลิง เป็นการจัดการขยะแบบครบวงจรเลย จึงกล่าวได้ว่าขยะทุกประเภทได้มีปลายทางของตนเอง ที่ไม่เพียงลดปัญหา แต่กลับสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างมากมาย
มากกว่าความสำเร็จด้านการจัดการขยะในห้าง
“ต้นแบบ” สิ่งที่สยามพิวรรธน์ต้องการจะเป็น เพราะการจัดการขยะไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อโลกของเรา เพื่อเด็ก ๆ ในอนาคต สยามเป็นสถานที่ที่มีคนเข้ามาเยอะ จึงสามารถช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในวงกว้างได้มาก เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าทำอย่างจริงจัง ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำจริง ตั้งใจจริง จนได้รับการยอมรับ ซึ่งปัจจุบันสามารถกลายเป็นศูนย์กลางให้คนนำขยะมาคัดแยกได้ ตลอดจนเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ในสังคมให้หันมาคัดแยกขยะมากขึ้นด้วย
“โลกเราร้อนมากขึ้นทุกวัน ดังนั้น เราเองก็ต้องคิดว่าจะมีส่วนในการดูแลโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพราะว่าเรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เราเริ่มทำจากภายในองค์กร พนักงานกลับไปที่ครอบครัวก็ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมครอบครัวของเขา ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ของเราได้รับความรู้ มีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปช่วยกัน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน…” (คุณนราทิพย์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด อ้างถึงใน มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล, 2565)
“ปี 64-66 โครงการ Siam Piwat 360° สามารถจัดการขยะได้ทั้งสิ้น 1,275 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,156 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 753,227 ต้น”
การคัดแยกขยะของสยามให้ข้อคิดอะไรบ้าง
- ถ้าอยากให้ลูกค้าที่มาใช้บริการช่วยกันคัดแยกขยะ ห้างต้องทำอย่างจริงจัง ถูกต้อง และทำอย่างเนื่อง ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้น หรือจูงใจลูกค้าอย่างเป็นประจำ
- ต้องมีปลายทางของขยะเสมอ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
- การมีเครือข่าย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดการด้วยตัวคนเดียว
รายการอ้างอิง
- SIAM PIWAT. (2564). โครงการ Siam Piwat 360 Waste Journey to Zero waste. สืบค้นจาก https://www.siampiwat.com/th/SPW360WasteJourney
- มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล. (2565). Value of Zero. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/siam-piwat/
- เอื้อพันธุ์. (2566). นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ศูนย์การค้า ‘ลดโลกร้อน’ มุ่งสู่ ‘องค์กรขยะเป็นศูนย์’. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1083833
ภาพประกอบ
- ภาพจาพ https://readthecloud.co/siam-piwat/