โดย ณัฐนนท์ นาคคง

หลาย ๆ คนอาจจะเคยชินกับการทิ้งขยะเรี่ยราดไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สวนสาธารณะ ถนน ที่ทำงาน และโดยเฉพาะโรงเรียน แม้ว่าจะมีถังขยะเตรียมไว้ให้แล้ว แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็มองข้ามถังขยะไม่ยอมทิ้งลงถัง และมีความมักง่ายที่ชอบซุกขยะไว้บริเวณรอบ ๆ ที่ตนเองอยู่ ตั้งแต่โต๊ะหินอ่อน โต๊ะนักเรียน บนพื้น ท่อระบายน้ำ ไปจนถึงต้นไม้ที่เป็นซอกเป็นรูก็ยังทิ้งไปได้ 

โรงเรียนรุ่งอรุณ ย่านบางขุนเทียน โรงเรียนที่ไม่ถังขยะ มีจุดทิ้งขยะเพียงจุดเดียว แต่ใช้การสอน และลงมือจัดการขยะอย่างจริงจัง ละเอียดถึงขั้นล้างถุงพลาสติกก่อนแยก และทำให้เด็ก ๆ กลับมาลองทำกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านด้วย จึงอยากชวนทุกคนมาศึกษาระบบการจัดการและวิธีการสอนของโรงเรียนกัน

สอนอย่างไรนักเรียนรุ่งอรุญถึงแยกขยะได้ ?

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก “โรงเรียนรุ่งอรุณ” กันดีกว่า รุ่งอรุณเป็นโรงเรียนที่เน้นจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) บูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้ไปบนกิจวัตรประจำวัน ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ เข้าใจการเชื่อมโยงต่อตนเอง สังคม และโลก ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติ โดยเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 

ซึ่งการเรียนรู้ตามแนวทางของวิถีรุ่งอรุณ เป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ครู นักเรียน พ่อแม่ เรียนรู้และเติบโตร่วมกัน ทำให้ทุกคนเป็นผู้เรียนรู้ เป็นตัวอย่างในการฝึกฝนตนเอง จนเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่นได้ 

เพราะประสบปัญหาขยะ จึงต้องหาทางแก้ไข 

ต้องย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน รุ่งอรุณได้ประสบปัญหาขยะล้นกองเป็นภูเขา และขยะเน่าส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากทิ้งทุกอย่างรวมกัน จนบางครั้งไม้แหลมไปจิ้มถุงที่ใส่เศษอาหาร เกิดน้ำนอง เน่าเลอะเทอะ ทำให้ขยะ     รีไซเคิล พวกกล่องนม ขวดเครื่องปรุงอาหาร พลอยเน่าไปด้วย เป็นที่มาของหนู แมลงสาบ และเชื้อโรค สร้างมลพิษและมลภาวะให้แก่โรงเรียน เป็นที่มาของการสร้าง โรงแยกขยะ ขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2547

เริ่มด้วย Trash audit รุ่งอรุณได้ให้แม่บ้านเขียนป้ายติดว่าถุงไหนมาจากตึกไหน วันที่เท่าไหร่ จากนั้นนำมาแจกแจงว่ามีขยะประเภทใดบ้าง และชั่งน้ำหนักเก็บสถิติของขยะแต่ละประเภทไว้ ซึ่งจากการเก็บสถิติพบว่า ในโรงเรียนมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 2,000 ถุงต่อวัน และมีปริมาณขยะมากถึง 200 กก.ต่อวัน โดยในหนึ่งเดือนจะเก็บสถิติกันหนึ่งครั้ง แจกแจงของแต่ละตึกแต่ละชั้นบนบอร์ดกลางของโรงเรียน จากนั้นนำมาประเมิน และวิเคราะห์ปัญหา 

การแยกขยะในโรงเรียนไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนเพียงหยิบมือ

เนื่องจากการดำเนินการในช่วงแรกเป็นการทำแบบจิตอาสา ให้ตัวแทนมาเรียนรู้แล้วนำไปใช้ที่ตึกของเอง แน่นอนไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เพราะสุดท้ายปัญหาอยู่ที่ต้นทางยังไม่เข้าใจ ดังนั้นต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้  โรงแยกขยะจึงไม่ใช่แค่ที่ที่ให้ทุกคนเอาขยะมาแยก แต่ได้มาเรียนรู้การจัดการขยะและออกแบบวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้โรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน

แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ คุณครูก็ต้องงัดมุกมาใช้กับนักเรียนไม่น้อยเลย แม้จะเหมือนการบังคับ แต่ก็ทำโดยการให้ทางเลือกนักเรียน เช่น ถ้าเด็กจะต้องทิ้งขวด ก็มีทางเลือกให้สองทาง หนึ่งล้างแล้วแยก นำกลับมาใช้ต่อได้ หรือแค่ทิ้งไปทำให้เกิดเป็นภูเขาขยะ ก็อธิบายให้นักเรียนฟัง แล้วปล่อยให้นักเรียนเป็นคนตัดสินใจเอง เพราะหัวใจของการงานนี้ คือ “ให้นักเรียนได้ลงมือทำ” 

นอกจากการคัดแยกขยะแล้ว ยังมีกิจกรรมที่คุณครูจัดให้เด็กได้เรียนรู้ความยากในการทำงาน การวิเคราะห์วางแผน เช่น กิจกรรมจัดบอร์ด ที่ให้แยกลวดเย็บกระดาษ แยกพลาสติก แกะสก็อตเทป จนเด็ก ๆ บ่นใส่ครูของเขาว่าใจร้าย แต่ในมุมของครูต้องการให้เรียนรู้ว่าความยุ่งยากเหล่านี้นี่คือสิ่งที่เกิดจากการะกระทำของเขาเอง หรือถ้านักเรียนไม่อยากมานั่งแกะยุ่งยากอีก คราวหน้าก็ต้องวางแผนก่อนว่าทำอย่างไรให้สามารถแยกได้ง่ายขึ้น ด้วยการค่อย ๆ สอนไปด้วย สุดท้ายผลงานการแยกของเด็ก ๆ ก็กลายมาเป็นอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรมในโรงเรียนของพวกเขาต่อไป

แยกขยะแบบรุ่งอรุณละเอียดขนาดไหน ?

โรงแยกขยะ หรือชื่อย่างเป็นทากการ ศูนย์ทรัพยากรรีไซเคิล ของรุ่งอรุณ นั้นเต็มไปด้วยราวตากถุงพลาสติก ถังคัดแยกกว่า 27 ใบวางเรียงรอบห้อง และชั้นวางของเป็นระเบียบสะอาดตาเหมือนเดินเข้าร้านเครื่องเขียน ซึ่งคัดแยกขยะได้กว่า 40 ประเภท มีการแบ่งการแยกขยะออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 

ส่วนในสุด: เป็นที่วางกล่องกระดาษ ปฏิทิน และขยะอิเล็กทรอนิกส์

สวนกลาง: เป็นส่วนหลัก ที่วางถังคัดแยกจำพวกกระดาษ พลาสติก โฟม โลหะ และแก้ว อย่างละเอียด รวมไปถึงมีที่แยกขยะชิ้นเล็กต่าง ๆ เช่น หนังยาง ปากกา (แยกไส้) ฯลฯ

ส่วนนอก: เป็นที่ไว้ตากพลาสติกหลังจากล้างทำความสะอาด และมีถังไว้แยกเศษอาหาร เพื่อนำไปทำปุ๋ยที่โรงหมักปุ๋ยของโรงเรียน อีกทั้งบางส่วนยังแจกให้คนในชุมชนใกล้เคียงนำไปเลี้ยงสัตว์ได้ด้วย

ส่วนขยะที่ไม่มีประโยชน์ จากห้องน้ำและห้องพยาบาล ที่เป็นขยะติดเชื้อก็ใส่ถุงสีแดง ขยะทั่วไปใส่ถุงสีดำ ซึ่งขยะทั้งหมดนี้จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามารับเพื่อนำไปรีไซเคิลบ้าง ผลิตพลังงานบ้าง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็จะให้กรุงเทพฯ นำไปจัดการอย่างถูกวิธี ช่วยลดขยะที่ต้องถูกนำไปฝังกลับได้อย่างมหาศาล 

คัดแยกว่าดีแล้ว แต่ประโยชน์กลับมากกว่าช่วยลดขยะ

นอกจากรุ่งอรุณจะลดจำนวนขยะในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแล้ว ขยะที่นักเรียนรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาได้คัดแยกไว้ในโรงแยกขยะ ก็เปรียบเหมือนแหล่งช้อปปิ้งย่อม ๆ ที่สามารถนำขยะกลับมาเป็นสื่อการสอนในห้องเรียน หรือนำไปสร้างงานประดิษฐ์ ตลอดจนเด็ก ๆ คนไหนที่อยากนำไปใช้ก็สามารถเข้ามาหยิบไปใช้ต่อได้ เพราะทุกชิ้นถูกล้างอย่างสะอาด และคัดแยกอย่างถูกต้องแล้ว ดังนั้นขยะจึงไม่ใช่ของไร้คุณค่าอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์อีกครั้ง ขอแค่ทุกคนคัดแยกได้อย่างถูกวิธี

“จากขยะกว่า 200 กก./วัน โรงเรียนรุ่งอรุณสามารถจัดการจนเหลือไม่เกิน 30 กก./วัน”

บทเรียนจากรุ่งอรุณ

  • การจัดการขยะในโรงเรียนให้ได้ผล หัวใจสำคัญคือความร่วมมือจากต้นทางขยะ หรือ “นักเรียน” นั่นเอง โรงเรียนจึงต้องมีการบริหารจัดการโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้พวกเขาได้เรียนรู้ และได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกเชิงบวก และคัดแยกขยะโดยไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ แต่ทำด้วยใจรัก
  • การเรียนรู้การคัดแยกขยะด้วยความสนุก ทำให้เด็ก ๆ มีประสบการณ์ที่ดี ช่วยต่อยอดไปถึงที่บ้าน ส่งผลให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแนะของครูโรงเรียนรุ่งอรุณ: ครูมนต์ ครูประจำศูนย์ทรัพยากรรีไซเคิล มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงอยากให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะขยะสามารถสร้างกำไรได้ ไม่ใช่การทำเพื่อสร้างสังคมแบบไม่มีผลตอบแทนศูนย์เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นช่องทางธุรกิจที่ทำเงินได้จริง

รายการอ้างอิง

  • โรงเรียนรุ่งอรุณ. (2552). รุ่งอรุณ ZERO WASTE. สืบค้นจาก https://www.roong-aroon.ac.th/?page_id=6543
  • ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์. (2561). ออกไปชมรุ่งอรุณของการแยกขยะ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ. สืบค้นจาก https://www.greenery.org/essay-rungarun/
  • Roong Aroon Chanel. (26 กันยายน 2562). ของเสียเหลือศูนย์ โรงเรียนรุ่งอรุณ [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=dQmgti_zl3M
  • TODAY – สำนักข่าวทูเดย์. (7 มิถุนายน 2566). บุก ‘โรงแยก’ โรงเรียนรุ่งอรุณ แยกขยะกว่า 40 ประเภท | TODAY  [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=i3pJ083ID5s

คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ