ปัญหาขยะกับชุมชนเมืองของกรุงเทพฯเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เนื่องมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขาดการคัดแยกขยะจากต้นทาง การขนย้าย การจัดการขยะ แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด คงหนีไม่พ้นพฤติกรรมและการขาดความรู้การกำจัดและจัดการขยะที่ถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายชุมชนได้มีการบริหารจัดการขยะได้อย่างครบวงจร เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ แล้วกับชุมชนแออัดที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันบนตึกจะจัดการขยะกันอย่างไร
ชวนมาทำความรู้จัก ชุมชนแฟลต 23-24 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ตึกสูง 5 ชั้น 2 หลัง 430 ห้อง ที่มีผู้คนพักอาศัยรวม 1,200 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนดั้งเดิม อีกครึ่งเป็นห้องเช่ากว่า 200 ห้อง ส่วนใหญ่มีอาชีพทำมาค้าขาย รับจ้างทั่วไป เก็บขยะของเก่า และพนักงานทำความสะอาดของกทม. แต่สามารถพลิกการจัดการขยะจากหลังมือเป็นหน้ามือได้ในระยะเวลา 3 เดือน
ปัญหาขยะ…แก้เท่าไรก็ไม่ได้ผล
ไม่ใช่ว่าชุมชนแฟลต 23-24 ไม่มีมาตรกการจัดการขยะ เพราะเดิมมีทั้งถังคัดแยกขยะและห้องเก็บขยะ แต่การมีคนย้ายเข้า-ออก อยู่บ่อย ชุมชนแฟลตคลองเตยจึงมีคนหมุนเวียนตลอดเวลา และด้วยวิธีการจัดการที่ยังไม่เหมาะสม ทำให้การสร้างความร่วมมือเรื่องการคัดแยกขยะ ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ปริมาณขยะที่มาจากปล่องทิ้งขยะทั่วทุกมุมตึก ทุกชั้น ยังมีมากถึง 660 กก.ต่อวัน
ขยะที่ถูกทิ้งลงมาด้านล่างผ่านปล่องทิ้งขยะ ได้มากองรวมกันอยู่ในห้องรองรับขยะ ที่จุขยะได้ราว 1 ตัน ทั้งถุงพลาสติก ขวดน้ำ และเศษอาหาร ถูกใส่ถุงมัดรวม โดยไม่มีการคัดแยก ถูกโยนจากปล่องทิ้งขยะ ลงมากองรวมไว้ ทำให้ใน 1 สัปดาห์ รถขยะต้องวิ่งเข้าออก ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง และเต็มคันรถเสมอ
ยังไม่สายที่จะเริ่มใหม่
อีกหนึ่งปัญหาแต่สำคัญที่สุด ซึ่งทำให้การสร้างความร่วมมือไม่สำเร็จ มาจากพฤติกรรมที่แก้ไม่หายของคนเมือง ที่เคยชินกับการสร้างปัญหาขยะอย่างไม่รู้จบ ทำให้คณะกรรมชุมชนต้องร่วมกันหาทางจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ในเดือนสิงหาคม 62 ชุมชนแฟลต 23-24 จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน “สะอาดบุรี ปี 2” โครงการที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดขึ้น ที่ช่วยกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการจัดการกับปัญหาขยะอย่างประสิทธิภาพ โดยมีชุมชนเกาะกลาง ซึ่งประสบสำเร็จในการจัดการขยะอย่างงครอบวงจร มาเป็นพี่เลี้ยงให้
ยิ่งทำได้ง่าย ยิ่งได้รับความร่วมมือ
ในช่วงแรกชุมชนได้สร้างการรับรู้ให้คนในแฟลต ด้วยการประกาศผ่านเสียงตามสาย อธิบายให้ฟังตามห้อง แจกเอกสาร เตรียมถังรองรับขยะแต่ละประเภทไว้ให้ที่ปากปล่อง สำหรับใส่ขยะที่แยกแล้ว ทั้งถังขยะรีไซเคิล (กระดาษ พลาสติก แก้ว) ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ส่วนขยะเศษอาหาร ก็ให้ทิ้งลงปล่องได้เหมือนเดิมเพราะข้อจำกัดของชุมชนเมืองยากต่อการจัดการขยะเปียก รวมไปจนถึงชวนเยาวชนในชุมชน ให้เข้ามาช่วยกิจกรรมด้วย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัญหาอยู่ที่ความเข้าใจของคนในแฟลต
นำมาสู่กลยุทธ์ใหม่ ที่ใครก็ทำได้ ด้วยการคิดอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนเมือง ที่ชอบทำสิ่งที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว จึงเปลี่ยนจากการแยกขยะ 4 ประเภท เหลือเพียงถังขยะรีไซเคิล 1 ถัง และขยะอันตรายอีก 1 ถัง ส่วนขยะเศษอาหารและอื่น ๆ ให้ทิ้งลงปล่องได้เลย เพื่อส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของกรรมการชุมชนนำไปจัดการต่อ
ขยะรีไซเคิลสามารถนำมาแยกประเภทขายได้ แต่ขยะเศษอาหารเป็นขยะที่จัดการได้ยาก เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่ไม่เพียงในการนำมาใช้ประโยชน์ จึงส่งต่อให้ทางเขตเป็นผู้จัดการให้ พร้อม ๆ กับขยะทั่วไปและขยะอันตราย ซึ่งไม่นานหลังจากคนในแฟลตเห็นว่าคัดแยกง่ายขึ้น จึงทำได้โดยไม่ติดขัด แค่แยกเฉพาะขยะแห้งกับขยะเปียกเท่านั้น แห้งก็ใส่ถัง เปียกก็ทิ้งปล่อง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมากของชุมชน
แยกขยะเป็นประจำทุกคนจึงเห็นคุณค่า
การได้คัดแยกขยะอย่างเป็นประจำ แม้จะคัดแยกอย่างง่าย ๆ แต่ความสม่ำเสมอก็ทำให้คนในแฟลตได้รู้คุณค่าของขยะ เพราะขยะที่คัดแยกแล้วสามารถสร้างรายให้กับชุมชน เมื่อทุกคนได้รับรู้แล้ว จึงเริ่มเก็บ และนำไปขายได้เอง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์ร่วมกับร้านค้าในแฟลตให้ลดการให้ถุงพลาสติกเมื่อคนมาซื้อของ เพียงแค่นี้ก็ได้ช่วยลดทั้งขยะ และเปลี่ยนพฤติกรรมการเพิ่มขยะโดยไม่จำเป็นของคนในชุมชนไปในตัว
จากการทิ้งขยะที่ปนกันมั่ว ทุกคนหันมาคัดแยกขยะ แถมปริมาณขยะยังน้อยลง เป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจของชุมชนแฟลต 23-24 ซึ่งผลจาการเริ่มต้นจัดการขยะแบบใหม่เพียง 3 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม – ตุลาคม 62 ขยะในชุมชนที่ต้องนำไปฝังกลบกว่า 660 กก.ต่อวัน เหลือเพียงวันละ 430 กก. หรือลดลงกว่า 34.85% เลยทีเดียว
บทเรียนสำคัญจากแฟลต 23-24
- วิธีการคัดแยกขยะต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อสามารถทำได้ง่าย ก็จะกลายเป็นนิสัย และเปลี่ยนเป็นกิจวัตรในที่สุด
- ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจะทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ และจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่ดีตามมา
- ความเข้มแข็งของกรรมการชุมชน เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยขับเคลื่อนให้ชุมชนมีการพัฒนาอยู่เสมอ
รายการอ้างอิง
- ไทยพีบีเอส (Thai PBS). (2562). เปลี่ยนเมือง ! แฟลตคลองเตย ลดขยะกว่า 30% ใน 3 เดือน. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/286693
- ไทยพีบีเอส (Thai PBS). (28 ธันวาคม 2562). ภารกิจพิชิตขยะ กลับมาใหม่ ไฉไลกว่าเดิม [Video file]. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/program/SaArdBuri/episodes/66141
- ไทยพีบีเอส (Thai PBS). (11 มกราคม 2563). เก็บขยะให้ปังกว่าเดิม[Video file]. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/program/SaArdBuri/episodes/66487
- ไทยพีบีเอส (Thai PBS). (18 มกราคม 2563). เมืองนี้ปลอดขยะ[Video file]. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/program/SaArdBuri/episodes/66507