โดย ณัฐนนท์ นาคคง

นอกจากตลาดจะเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าของผู้คนจำนวนมากแล้ว ยังมีสิ่งที่มีมากยิ่งกว่า นั่นคือปริมาณขยะที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งบรรจุภัณฑ์ วัสดุเหลือใช้ประเภทต่าง ๆ และที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ เศษผักผลไม้นานาชนิด ที่เกิดขึ้นในตลาดค่าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ แม้ว่าจะสามารถย่อยสลายได้ หรือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำมาผลิตปุ๋ย แต่เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีการเจือปนของขยะชนิดอื่น สุดท้ายขยะเศษผักผลไม้ก็หนีไม่พ้นถูกนำไปฝังกลบอยู่ดี

หากแต่ตลาดมีการบริหารจัดการขยะที่ดีล่ะ เศษผักผลไม้เหล่านี้คงสร้างประโยชน์ได้นับไม่ถ้วน ซึ่งเป็นที่น่ายินดี เพราะวันนี้มีตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศษผักผลไม้ได้อย่างมหาศาล ด้วยระบบการจัดการขยะที่ออกแบบเอง แต่ได้ผลสุดยอด มาให้ศึกษากัน

ปัญหาชวนปวดหัวของตลาดค้าส่งขนาดใหญ่

“สี่มุมเมือง” ตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งอยู่ที่ชานเมืองกรุงเทพฯ บนเนื้อที่กว่า 350 ไร่ ซึ่งมีคนเดินตลาดวันละ 50,000 คน และมีสินค้าหมุนเวียนวันละ 8,000 ตัน ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาหนักใจ อย่างการกำจัดขยะเศษผักผลไม้กว่า 230 ตันต่อวัน ส่งผลให้มีภาระต้นทุนการฝังกลบขยะ สูงถึงปีละ 35 ล้านบาท หรือ 3-4 ล้านต่อเดือน 

แต่แล้ววันหนึ่ง ทางผู้ประกอบการตลาดสี่มุมเมืองได้เล็งเห็นคุณค่าของการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงมองหาวิธีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ พร้อมกับใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการขยะ

จัดการขยะอย่างมีกระบวนการ

คัดแยกขยะ นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ เป็น 3 กระบวน ที่ตลาดสี่มุมเมืองนำมายึดโยงไว้กับการจัดขยะภายในตลาด 

“คัดแยกขยะ”

ตลาดสี่มุมเมืองมีการจัดแบ่งโซนผักผลไม้ไว้ชัดเจน เช่น โซนสับปะรด โซนส้มโอ โซนดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อดีของตลาด ทำให้ในแต่ละโซนจึงมีแต่ขยะประเภทนั้น ๆ การนำถังคัดแยกไปวางตามโซนต่าง ๆ จึงช่วยให้การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำได้ง่าย 

เมื่อแยกขยะแล้ว ก็ต้องมีคนขนขยะ ซึ่งตลาดได้ใช้วิธีที่ชาญฉลาด ทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยไม่ต้องจ้างคนมาเพิ่ม แต่ใช้คนที่มีอยู่แล้ว หรือก็คือคนงานขนผักผลไม้ และคนยกของในตลาดให้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างแรงจูงใจให้คนงานเข็นขยะมาส่งที่จุดแยกขยะ ซึ่งแต่ละคนจะได้บาร์โค้ดของตัวเอง เมื่อมาส่งขยะ ระบบก็จะเก็บแต้มไปเรื่อย ๆ พอถึงกำหนด ก็จะตีออกมาเป็นเงินจ่ายคนงาน ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งตลาดและคนงาน

“นำกลับมาใช้ใหม่”

ขยะที่คัดแยกแล้วได้เปลี่ยนเป็นรายได้ให้กับตลาด เช่น เศษใบผัก สามารถนำไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ อาทิ บ่อเลี้ยงปลา ฟาร์มโค ราว 50 ตันต่อวัน สร้างรายได้ปีละ 11 ล้านบาท ส่วนขยะรีไซเคิล (ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และลังโฟม) ราว 12 ตันต่อวัน นำมารีไซเคิลด้วยเครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยใช้ต้นทุนแค่ 3,000 บาท แต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกปีละ 1.5 ล้านบาท

“นำไปพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์”

ไม่เพียงแต่นำไปสร้างรายได้เท่านั้น ขยะที่คัดแยกแล้วบางส่วน ยังสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย เช่น ขยะอินทรีย์จากเศษผลไม้จุกสับปะรด ส้ม แตงโม และมะนาว นำมาพัฒนาคิดค้นสูตรน้ำหมัก EM เพื่อใช้ชำระล้างภายในตลาด ลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 1.5 ล้านบาท ส่วนเปลือกข้าวโพด และจุกสับปะรด นำมาแปรรูปเป็นอาหารโคเนื้อและโคนม ได้กว่า 18 ตันต่อวัน

อยากให้คนเต็มใจแยกขยะต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี

สิ่งที่ยากที่สุดในการจัดการขยะในตลาดสี่มุมเมือง คือ จะดึงคนส่วนใหญ่ให้มาสนใจได้อย่างไร นี่เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการตลาดสี่มุมเมืองเข้าใจเป็นอย่างดี จึงได้ใช้วิธีสุดสร้างสรรค์ ด้วยการนำ “คอนเสิร์ต” ที่ใคร ๆ ก็เต็มใจฟังมาช่วยสื่อสาร โดยใช้เวลาระหว่างคอนเสิร์ตค่อย ๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะ พอมีคอนเสิร์ตบ่อยคนในตลาดก็รับสารกันมากขึ้น ประกอบกับการมีระบบที่ชัดเจน อย่างการมีบาร์โค้ดให้คนขนขยะ และมีจุดทิ้งขยะชัดเจน จึงช่วยให้คนในตลาดรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง

ความสำเร็จไม่อาจเกิดได้หากปราศจากความร่วมมือ

ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน ตลาดสี่มุมเมืองได้ใช้เวลากว่า 8 ปี ในการลองผิดลองถูกกับการจัดการขยะ โดยมีแม่ค้าและแรงงาน เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ตลาดประสบความสำเร็จได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ซึ่งหัวใจอยู่ที่ ความง่ายในการคัดแยกขยะ 

แม้ว่าช่วงแรกอาจจะต้องใช้ไม้แข็งบ้าง ต้องมีพนักงานยืนเฝ้า แต่เมื่อผลลัพธ์เห็นเป็นประจักษ์แม่ค้าก็ปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง อีกส่วนที่สำคัญ แรงงานกว่า 4,000-5,000 คน ที่คอยเก็บขยะ เช่น ขวด และพลาสติก ที่มีอยู่ประมาณ 20 % ทางตลาดก็ได้สนับสนุนจัดทำกระเป๋าเชื่อมต่อกับรถเข็นใส่ของ เพื่อให้สะดวกต่อทำงาน ตลอดจนสร้างแรงจูงใจที่ดีทั้งรับซื้อและให้รางวัล จึงไม่แปลกเลยที่ความร่วมมือเหล่านี้ได้ก่อร่างความสำเร็จให้กับการจัดการขยะในตลาดสี่มุมเมือง

“จากขยะ 230 ตันต่อวัน ตลาดสี่มุมเมืองสามารถลดขยะได้กว่า 40% ช่วยลดรายจ่ายในการฝังกลบได้         4 ล้านต่อปี และยังเพิ่มรายได้ให้ตลาดกว่า 20 ล้านต่อปี”

บทเรียนการจัดการขยะตลาดสี่มุมเมือง

  • ขยะจะมีปริมาณมากเพียงใด หากแต่มีการสื่อสารที่ดีควบคู่ไปกับความร่วมมือขอทุกคนในตลาด การจัดการขยะในตลาดก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
  • จากกองขยะไร้ประโยชน์จะแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ด้วยการจัดการที่ถูกต้องและการพัฒนาที่ถูกวิธี

รายการอ้างอิง

  • บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). (2565). สี่มุมเมือง เปลี่ยนขยะอินทรีย์ในตลาด เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเกษตรกร ลดต้นทุน. สืบค้นจาก https://www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_207747
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2563). ตลาดสี่มุมเมือง สร้างธุรกิจยั่งยืน “ด้วย 5 ระบบจัดการขยะ” คัดแยก-เพิ่มมูลค่า. สืบค้นจาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000116040
  • มาสิรี ศิลาคำ. (2567). ลดต้นทุน 4ล้าน/ปี ด้วยการจัดการขยะอย่างยั่งยืน. สืบค้นจาก  https://spacebar.th/business/economy-simummueang-market-reduces-business-costs- with-sustainable-waste-management
  • บริษัท แอดวานซด์ โนวฮาว จำกัด. (ม.ป.ป.). เปลี่ยนขยะให้เป็นโอกาส! ส่องแนวคิด “ตลาดสี่มุมเมือง” ต้นแบบจัดการขยะแบบทำเอง. สืบค้นจาก https://www.advancebio11.com/blog/ส่อง แนวคิด%20“ตลาดสี่มุมเมือง”%20ต้นแบบจัดการขยะแบบทำเอง
คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ