โดย ณัฐนนท์ นาคคง
งานเทศกาลอย่างงานประเพณีไทยเป็นสิ่งที่เรายึดถือและปฏิบัติต่อกันมาในสังคม จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมให้คนปฏิบัติตามมาหลายชั่วอายุคน ทว่าปัจจุบันมันกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เนื่องจากเราไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอาจเกิดขึ้นระหว่างร่วมงานประเพณี นั่นจึงทำให้เราเผลอทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับประเพณีเหล่านี้ว่า “ควรไปต่อ” เพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม หรือ “ควรจะพอแค่นี้” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราสืบต่อไป
ปัญหาสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คงหนีไม่พ้น “ขยะ” ที่หลงเหลือไว้หลังจากจบงานเทศกาลทุกครั้ง โดยเฉพาะในงานประเพณีในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนนับแสนคน อย่าง “ประเพณีลอยกระทง” ที่ถูกมองว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ก็ยังมีการจัดกิจกรรมลอยกระทงอยู่เป็นประจำทุกทุกปี วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้การจัดการปัญหาขยะที่เกิดจากการลอยกระทงกัน
ประเพณีอันดีงามแต่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
เราทราบกันดีอยู่แล้วเกี่ยวกับกับลอยกระทง ว่าเป็นการนำธูปและเทียนจัดใส่ลงไปในกระทงที่ทำมาจากวัสดุต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ วัสดุธรรมชาติ โฟม ขนมปัง แต่ส่วนใหญ่มักจะทำมาจาก ต้นกล้วยและใบตอง แล้วนำไปลอยตามแหล่งน้ำ เพื่อแสดงความขอบคุณและขอขมาพระแม่คงคาที่ได้ใช้นำในกิจกรรมของมนุษย์
แต่เมื่อ 15 ค่ำ เดือน 12 ปี 66 หลังคืนลอยของกระทงกรุงเทพฯ แม้จะเป็นปีที่มีกระทงจากโฟม น้อยลง และหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เนื่องจากคนสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่าวัสดุเหล่านี้กลับไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เศษกระทงที่ลอยในแหล่งน้ำจะกลายเป็นขยะที่ก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำในเร็ววัน กระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำสกปรกขึ้น และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ สัตว์น้ำไม่สามารถอยู่และอาจจะตายลงได้
เพียงคืนเดียวจาก ‘กระทง’ สู่ ‘เศษซากขยะ’
ทันทีที่กระทงกระทบกับผืนน้ำ ทันใดนั้นก็ได้แปรเปลี่ยนกลายเป็นขยะ ในปี 66 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ จัดงานลอยกระทง 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด แถมยังเปิดให้ใช้พื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ อีก 34 แห่งด้วย เป็นเหตุให้เกิดขยะจากกระทงกว่า 639,828 ใบ ซึ่งเพิ่มขึ้น 67,226 ใบ หรือร้อยละ 11.74 จากปี 2565 ที่เก็บกระทงได้ 572,602 ใบ
ซึ่งแบ่งเป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย ขนมปัง ฯลฯ จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 ทั้งนี้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 เป็น ร้อยละ 96.74 ส่วนกระทงโฟม ลดลงจากร้อยละ 4.30 เป็นร้อยละ 3.26
กระทง(ขยะ)มหาศาลจัดการอย่างไรให้หมด
กรุงเทพฯต้องระดมทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง ให้เพียงพอต่อการจัดเก็บกระทงไม่ให้ตกค้างในแหล่งน้ำ และเผชิญกับอุปสรรคด้านแสงสว่าง และผักตบชวาปริมาณมากในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่จำนวน 168 คน เรือเก็บขยะติดตั้งไฟส่องสว่างจำนวน 31 ลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน และรถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน เพื่อใช้ในการลำเลียงกระทงไปจัดอย่างถูกต้อง
โดยกระทงที่จัดเก็บได้จะถูกนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง เพื่อจัดการอย่างถูกวิธี ประกอบด้วยศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้เข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกระทงโฟมจำเป็นต้องนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป
ลอยกระทงแบบยุคดิจิทัลก็สืบสานประเพณีได้เหมือนกัน
สุดท้ายแม้ว่ากระทงจะมีจำนวนมาก แต่ด้วยความพร้อมในการจัดการขยะของกรุงเทพฯ ก็สามารถทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลับคืนสู่สภาพเดิมได้ รวมไปถึงมีแนวโน้มการใช้กระทงโฟมน้อยลงจากการหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “ขยะก็คือขยะ” เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะแบบไหนก็ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ ต้องนำเข้าสู่กระบวนคัดแยกที่ถูกต้อง และยังใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายได้
ดังนั้นเมื่อโลกหมุนไปข้างหน้า ก็ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวให้ทันกระแสโลก การลอยกระทงแบบออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่ใครก็เข้าร่วมได้ อย่างการ ลอยกระทงดิจิทัล ผ่าน Projection Mapping ซึ่งกรุงเทพฯ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 66 ณ คลองโอ่งอ่าง ทำให้มีผู้สนใจร่วมลอยไม่น้อย จำนวน 3,744 ใบ นับเป็นจำนวนขยะที่ลดลงด้วยเช่นกัน ถึงจะยังไม่เยอะมากหากเทียบกับกระทงในแม่น้ำ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ประเพณีอันดียังดำรงอยู่ต่อไปได้
หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลายด้วยขยะจากมือเรา แล้วเราจะรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามได้อย่างไร…
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานลอยกระทง
- แม้ไม่อาจปฏิเสธขยะที่จะเกิดตามมาหลังเสร็จงานประเพณีได้ หากแต่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีของหน่วยงานรับผิดชอบย่อมจัดการขยะเหล่านั้นได้
- การสืบสานประเพณีไทยไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเก่า แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบัน ที่สามารถอนุรักษ์ไว้ทั้งประเพณีและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้
รายการอ้างอิง
- กองบรรณาธิการ THE STANDARD. (2566). กทม. เร่งจัดเก็บกระทงประจำปี 2566 คัดแยก-ส่งย่อยสลาย คืนสภาพแวดล้อมเดิมให้แม่น้ำลำคลองหลังจบงานประเพณี. สืบค้นจาก https://thestandard.co/bangkok-collect-krathong-garbage/
- ธนกฤต แดงทองดี. (2565). เมื่อประเพณีที่มี ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้. สืบค้นจาก https://www.seub.or.th/bloging/news/tradition/
- TODAY Writer. (2566). ‘ขยะกระทง’ ปี 66 กว่า 6.3 แสนใบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.74%. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/trash-loykrathong/#google_vignette
- ไทยรัฐออนไลน์. (2565). กทม. ลุยเก็บ “กระทง” ไปกำจัดอย่างถูกวิธี เตรียมรายงานยอดเก็บกระทง 2566. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2743938