กรุงเทพฯ ประเทศไทย – วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และสมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ (Trash Hero Thailand Association) ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 160 องค์กร ยื่นแถลงการณ์ถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งใน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ก่อนถึงการเจราจารอบสุดท้ายระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้ ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยเน้นย้ำให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการที่ควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ควบคุมสารเคมีอันตราย และยุติมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 

มาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย หรือ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” นี้ มุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก มาตรการกำกับการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว สารเคมีและสารเติมแต่งที่น่าห่วงกังวล การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและกลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจุดมุ่งหมายหลักคือการยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน ต่อมาได้มีการประชุมเพื่อร่างสนธิสัญญาฉบับนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยการเจรจาครั้งที่ 5 ที่จะเกิดขึ้นเป็นรอบสุดท้ายจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 พฤษจิกายนนี้ ไปจนถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2567

การเจรจาที่จะถึงนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาคมโลกจะสามารถบรรลุสนธิสัญญาที่จะยุติมลพิษพลาสติกและกำหนดระดับการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนได้ แถลงการณ์ของภาคประชาสังคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจาครั้งนี้ โดยมีข้อเรียกร้อง 10 ประการดังนี้

  1. ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
  2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
  4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
  5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
  6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
  7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
  8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
  9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
  10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“เราปฎิเสธไม่ได้ว่า การผลิตพลาสติกในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโสและผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าว “สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกจะได้หาทางออกสำหรับปัญหามลพิษพลาสติกซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตตลอดจนการกำจัด โดยเฉพาะเรื่องการลดการผลิตพลาสติกปฐมภูมิ ที่แม้จะเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่การไม่พูดถึงหรือมองว่าเป็นไปไม่ได้ไม่ใช่ทางออก การที่ทุกคนจากหลากหลายความเชี่ยวชาญมารวมตัวกันเพื่อหารือเรื่องที่ท้าทายนี้บนพื้นฐานของข้อมูลต่างหาก ที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในเวทีเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (INC-5) ด้วยการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ มุ่งเป้าลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน”

พิชามญชุ์​ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “กรีนพีซมุ่งหวังให้ผู้แทนคณะการเจรจาของประเทศไทยสนับสนุนมาตรการลดการผลิตพลาสติก และมีนโยบายสนับสนุนและเอื้อให้เกิดระบบใช้ซ้ำ ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอที่นำไปสู่การทำธุรกิจแบบพึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล และแสดงจุดยืนในการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังเพื่อปกป้องทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก นำไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ ปลอดมลพิษ และไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อยู่บนพื้นฐานระบบใช้ซ้ำ” 

“ในฐานะหนึ่งในตัวแทนของแทรชฮีโร่ ซึ่งเป็นเป็นองค์กรอิสระที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มอาสาสมัคร มุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระดับชุมชนทั่วโลก กระตุ้นและสนับสนุนให้ทุกคนช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เราทำงานในระดับชุมชนเป็นหลัก แต่การจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของผู้ผลิตและตัวบทกฎหมายที่เข้มแข็ง ที่จะสามารถทำให้หนทางแก้ปัญหาดำเนินไปได้พร้อมกันและอยู่ในพื้นฐานเดียวกันทั่วโลก” สุภาวรรณ ศรีรัตนะ ผู้ประสานงานภายในประเทศ สมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ กล่าว

“การผลิตพลาสติกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตพลาสติกทุกประเภทมากกว่า 13,000 ชนิด ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ชนิดที่จัดเป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สารเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุมเข้มงวดในการใช้หรือยกเลิกการใช้อย่างเด็ดขาด และหาสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่ามาใช้ การดำเนินการเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและครอบคลุมในทุก ๆ ประเทศ เราเชื่อว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาสารเคมีในพลาสติกที่อันตรายและเป็นพิษได้เมื่อมีมาตรการบังคับที่สามารถบังคับใช้ได้ทั่วโลก ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาใช้กำกับ” ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวทิ้งท้าย

อ่าน แถลงการณ์ฉบับเต็ม ได้แล้วที่นี่

เสียงจากภาคประชาสังคมผู้ร่วมลงนาม

“สมาคมพัฒนาเยาวชนมุสลิมไทยร่วมเป็นหนึ่งในเสียงของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยมีมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก ผ่านการจัดตั้งสนธิสัญญาพลาสติกโลก การลดการผลิตพลาสติกนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม” – อานัส จิตหลัง  นายกสมาคม สมาคมพัฒนาเยาวชนมุสลิมไทย

“งานวิจัยทางการแพทย์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไมโครพลาสติกซึ่งปนเปื้อนในสัตว์น้ำและระบบนิเวศทะเลมีผลต่อกระทบอย่างสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ซึ่งบริโภคอาหารทะเล สำหรับชุมชนชายฝั่ง ชาวประมงพื้นบ้าน ขยะพลาสติกในทะเลเป็นกองขยะที่พัดมาสะสมในชุมชน ชายหาด เกาะ และติดเครื่องมือประมงจำนวนมาก ที่ผ่านมาเรารณรงค์ลดขยะพลาสติกโดยภาคสมัครใจ และเราปล่อยให้การผลิต การใช้ การทิ้งพลาสติกเสรี มีราคาถูก ขาดการควบคุม จนเป็นภัยคุกคามต่อเราทุกคน ขยะทะเลเป็นภัยข้ามพรมแดน ล่องลอยไปในมหาสมุทร จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อยุติภัยคุกคามนี้ โลกจำเป็นต้องมีสนธิสัญญาพลาสติกที่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย โดยต้องมีเนื้อหาที่คลอบคลุมการลดการผลิต การหยุดใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น เป็นความรับผิดชอบทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดวงจรพลาสติก” – นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิอันดามัน (Save Andaman Network)

“ลดการผลิตพลาสติก ลดการใช้พลาสติก และเลิกกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกที่สกปรก คือสามทางออกหลักในการแก้ไขปัญหาพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม” – สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch

“เราจะลดปริมาณพลาสติกได้ ต้องเริ่มจากนโยบายและแผนการบริหารจัดการจากภาครัฐ” – สุภาภรณ์ มาลัยลอย  ผู้จัดการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้มากขึ้น พวกเราแสดงความพยายามในการจัดการขยะของตนเองและในระดับครัวเรือน ลดการใช้พลาสติก และแนะนำกันและกันผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ผมเชื่อว่าประชาชนพร้อมปรับตัวเสมอ เราขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต ช่วยลดบางอย่าง เพิ่มบางสิ่ง อำนวยความสะดวกให้พวกเราตั้งแต่ต้นทางผ่านคำเรียกร้องฉบับนี้ นั่นแหละคือวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันที่พวกเรา “เยาวชน” มองหา เพื่อหวังจะจัดการปัญหานี้ที่เป็นภัยคุกคามทางอ้อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่พวกเราเป็นห่วง” – นายนพรัตน์ อนันตประยูร ผู้ประสานงานร่วม เครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำประเทศไทย (GYBN Thailand)

“ซาเล้งเป็นคนที่อยู่จุดต่ำสุดของห่วงโซ่ มีอาชีพเก็บขยะขายเพื่อเลี้ยงชีวิต ผมมองเห็นพี่น้องชาวซาเล้ง หยิบเศษพลาสติกขึ้นมาแล้วนำไปขายต่อไม่ได้ เพราะว่าร้านรับซื้อของเก่าหรือโรงโม่พลาสติกปฎิเสธการรับซื้อเนื่องจากเป็นพลาสติกเชื้อผสมกัน หรือไม่มีตลาดผู้รับซื้อที่แท้จริง จนกลายเป็นพลาสติกกำพร้า สุดท้ายต้องทิ้งไป จึงขอฝากถึงผู้ผลิตบรรจุภัณท์ เมื่อผลิตพลาสติกออกมาแล้วควรที่จะสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้จริง 100% ไม่ใช่แค่ติดสัญญาลักษณ์แบบเท่ ๆ เท่านั้น เสียดายทรัพยากร เสียดายแทนซาเล้งทุกคนครับ” – นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคม สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า

“เชียงใหม่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วยังมีปัญหาการจัดการขยะทั้งในระดับเมืองและชุมชน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่หน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะลดและจัดการอย่างจริงจัง ขยะพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ชุมชน บ้างก็ถูกฝังกลบปนเปื้อนอยู่ในพื้นดิน บ้างก็ถูกเผาปล่อยมลพิษทางอากาศ ในขณะที่ต้นทางผู้ผลิตยังมีการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างแพร่หลาย ไร้มาตรการในการแก้ไขปัญหา หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พื้นที่ต้นน้ำอย่างเชียงใหม่จะกลายเป็นต้นสายธารที่ไหลและนำพาขยะพลาสติกและมลพิษผ่านกลางประเทศไทยลงสู่อ่าวไทยและมหาสมุทร สร้างผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม นับเป็นวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ มีมาตรการ [กฎหมาย] และการปฏิบัติเพื่อควบคุมจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีส่วนร่วมและจริงจัง เพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี” – ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ (Somdul Chiangmai)

คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ