หนึ่งวันในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถสร้างขยะได้มากกว่า 9,000 ตัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกำจัดขยะ เกือบ 9,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากสามารถลดปริมาณขยะได้ ก็จะลดปัญหาในการกำจัดขยะลงด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ส่งเสริมโครงการการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในชุมชนที่ให้ความร่วมมือกับโครงการจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างน่าชื่นชม นั่นคือ “ชุมชนชนเกาะกลาง”

ชุมชนเกาะกลาง

ชุมชนริมคลองเล็ก ๆ ใจกลางกรุง ที่มีความเก่าแก่ อายุนานกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในเขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีผู้อาศัยเพียง 56 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรประมาณ 230 คน แต่เดิมภาพจำของชุมชนริมคลองกลางกรุงเช่นนี้มักถูกมองว่าเสื่อมโทรม และเป็นแหล่งทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง หากด้วยความตั้งใจอันดีของคนในชุมชน ร่วมกับการสนับสนุนและการให้ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกต้องจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด ทำให้ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

ผลลัพธ์จากความร่วมมือ

ชุมชนเกาะกลางได้ปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีจุดแยกขยะอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลิตภัณฑ์จากขยะ อาทิ ก๊าซชีวภาพไปประกอบอาหารในชุมชนได้ถึง 720 ชั่วโมง ประหยัดค่าพลังงานได้ราว 9,600 บาทต่อปี รวมถึงยังมีการนำขยะด้อยค่าอีกหลายประเภทไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนทั้งในแง่การจัดการขยะ ความสะอาด การได้ประโยชน์ใช้สอยจากผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เพิ่ม และประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างจิตสำนึกการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ (นิกรณ์ สปส., 2566) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร เกาะกลาง: ชุมชนแยกขยะได้ประโยชน์”

ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้

107,400

บาทต่อปี

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

14,610

kgCO2eq

ความเปลี่ยนแปลงของชาวชุมชนเกาะกลาง

จากที่ไม่มีความรู้ ทุกวันนี้หลายคนสามารถผันตัวมาเป็นวิทยากรได้ ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีส่วนร่วมในการเป็นบ้านตัวอย่างด้านการจัดการขยะ รวมถึงพฤติกรรมของชาวชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงขั้นมีโรงรับซื้อขยะภายในชุมชนเพื่อมาคัดแยกแล้วนำไปขายต่อ ขณะเดียวกันเมื่อชาวชุมชนออกไปนอกชุมชนก็ยังถือขยะติดไม้ติดมือกลับมา เพราะตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่มีมูลค่า สามารถนำไปขายเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้กลับมาสู่พวกเขาได้ 

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จะผลิบานอย่างยิ่งใหญ่

ความสำเร็จของชุมชนเล็ก ๆ อย่างชุมชนเกาะกลาง จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้ชุมชนขนาดใหญ่หันมาให้ความสนใจการคัดแยกขยะมากขึ้น เพราะความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนอื่น ๆ รับรู้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครลดลง งบประมาณส่วนนี้สามารถนำมาจัดสรรเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กที่ยังขาดโอกาส หรือส่งเสริมสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน ตลอดจนนำมาพัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ให้กับกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการขยะแบบครบวงจร ฉบับชุมชนเกาะกลาง

  1. จัดการแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย
  2. คัดแยกวัสดุรีไซเคิล (แก้ว กระดาษ พลาสติก กระป๋อง และกล่องเครื่องดื่ม) นําไปบริจาคไว้ที่จุดรับบริจาควัสดุรีไซเคิล หรือนําไปขายให้กับศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิล
  3. ส่งต่อขยะพลาสติกยืดได้ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงแกง ฟิล์ม และห่อสินค้า ฯลฯ ไปยังผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล ทำให้ขยะพลาสติกได้เข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
  4. แปรรูปขยะทั่วไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้สอยและสร้างรายได้ให้ครัวเรือน เช่น กระเป๋า ตะกร้า และดอกไม้ ฯลฯ
  5. นำขยะอินทรีย์ หรือขยะเศษอาหารจากครัวเรือน ไปหมักเพื่อทำก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งนำมาหมักทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ ในขณะที่น้ำมันเหลือทิ้งยังสามารถนำมาทำเป็นสบู่ล้างจานได้
  6. จัดตั้งจุดรับซื้อขยะในชุมชนเดือนละครั้ง ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชั่น O.K. Recycle ในการจัดเก็บข้อมูลการซื้อขายขยะภายในชุมชนที่สามารถดูข้อมูลได้อย่างโปร่งใส โดยที่ราคาขยะจะขึ้น-ลงตามความต้องการของตลาด 
  7. ขยะส่วนที่เหลือและขยะอันตรายที่ไม่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ ชุมชนจะส่งต่อให้สํานักงานเขตคลองเตยเป็นผู้จัดการ

บทเรียนจากชุมชนเกาะกลาง

  • การมีส่วนร่วมและความตั้งใจในชุมชนควบคู่ไปกับความรู้ที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดพื้นฐานการคัดแยกขยะที่ดีในชุมชน
  • การบริหารจัดการขยะภายในเกาะกลางแบบครบวงจรทั้ง ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ได้ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นต้นแบบธุรกิจการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

รายการอ้างอิง

บทความโดย ณัฐนนท์ นาคคง

คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ