Event หรือ งานกิจกรรม คือช่วงเวลาแห่งความสนุก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างขยะมหาศาล การจัดงาน Event หนึ่งครั้ง สามารถก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก จากการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งส่วนของการจัดงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การใช้เชื้อเพลิงในการปรุงอาหาร และสิ่งเหลือทิ้งหลังการจัดงานซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก นั่นคือขยะจำนวนมากจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งขยะที่มีมากที่สุดคงหนีไม่พ้นขยะจำพวกถุงพลาสติก ขวดน้ำ และเศษอาหารเหลือทิ้งรองลงมา 

จึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้แนวทางของงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ที่มีนิสิตนักศึกษาและคนทั่วไปมาร่วมงานกว่า 5,000 คน แต่สามารถจัดการขยะจำนวนมหาศาลได้ ภายใต้แนวคิด Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม ด้วยการสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC ที่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตลอดจนการแยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ

คนรุ่นใหม่จัดกิจกรรมอย่างไรให้ไร้ขยะ

ท่ามกลางเสียงเชียร์อันกึกก้อง กับขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ และการแปรอักษรอันตระการตา ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่พิเศษกว่าปีไหน ๆ ไม่เพียงสะท้อนความสมัครสามัคคีระหว่างสองมหาวิทยาลัย แต่ยังแสดงถึงพลังของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังด้วย ผ่านการสอดแทรกของแคมเปญ Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง ในกิจกรรมทุกส่วนของงาน ตั้งแต่รอบสนาม ในขบวนพาเหรด ไปจนถึงบนสแตนเชียร์ ด้วยแนวทาง “ลด เปลี่ยน แยก” 

“ลด (ขยะ) สิ่งที่ไม่จำเป็น”

การจัดงานฟุตบอลคงไม่อาจเลี่ยงแสงแดดจ้า อันร้อนระอุได้ ทำให้ผู้ร่วมงานที่อยู่ภายนอกสนามต้องแวะเวียนไปยังซุ้มน้ำเพื่อเติมน้ำหวาน ๆ ให้ร่างกายให้อยู่บ่อยครั้ง และแน่นอนว่าในสถานการณ์ปกติย่อมสร้างขยะจากแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก แต่ในงานนี้ได้ใช้กลยุทธ์ในการรณรงค์ให้นำแก้วน้ำส่วนตัวมาเพื่อรับเครื่องดื่มได้ฟรี ส่วนใครที่ไม่ได้พกแก้วมาเองทางงานก็ได้เตรียมแก้ว Bio Compostable ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาให้แทน

สรุปผลการ “ลด” ได้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 18,121 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น ลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) 2,487 ชิ้น และลดการนำขยะไปฝังกลบ 72%

“เปลี่ยน: ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ขบวนพาเหรดและสแตนเชียร์ของทั้งสองมหาวิทยาลัย เป็นอีกไฮไลท์สำคัญของงานฟุตบอล และเป็นเสียงสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อประเด็นต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง สังคม จนถึงสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเสร็จสิ้นอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นขยะ ดังนั้นจึงมีการจัดการกับขยะจากขบวนพาเหรดและแสตนเชียร์ โดยการคัดแยกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ Reuse Recycle และ Upcycling ซึ่งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ส่วนด้านบนสแตนเชียร์ได้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับใส่อาหารกลางวันและอาหารว่างไว้เติมพลังให้กับนิสิตนักศึกษา ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้เสื้อสตาฟและถุงยังชีพ ที่มาจากกระบวน Upcycling ด้วย

สรุปผลการ “เปลี่ยน” ได้เปลี่ยนไปใช้กล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ 8,880 ชิ้น เปลี่ยนไปใช้เสื้อ Upcycling จากขวดพลาสติก สำหรับสตาฟเชียร์ได้ 3,700 ตัว และเปลี่ยนไปใช้ถุง Upcycling จากขวดพลาสติกได้ 5,700 ใบ

แยกขยะแบบ เท ทิ้ง เท ทิ้ง”

งานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ได้เตรียมถังแยกขยะที่ถูกต้องไว้ตามจุดต่าง ๆ กว่า 21 จุด บริเวณรอบสนาม ที่พักสตาฟ จนถึงพื้นที่รับรองผู้ใหญ่ ภายใต้แนวทาง “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” โดยให้เริ่มจากเทน้ำ น้ำแข็ง เศษอาหาร ตามลำดับก่อนทิ้งลงถัง แยกเป็นวัสดุแห้งรีไซเคิล (กระป๋องน้ำอัดลม แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว) แก้ว Bio และขยะเปียก เช่น ทิชชูใช้แล้ว กล่องข้าว แก้วน้ำปั่น ถุงร้อน ฯลฯ 

ทั้งนี้ยังมีการแนะนำการออกแบบกิจกรรมการคัดแยกขยะบนสแตนแปรอักษร รวมถึงแสตนคนดูให้กับนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยด้วย และถังคัดแยกเองก็ถูกออกแบบมาให้เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัด เพื่อสามารถแยกขยะพลาสติกประเภท PET และ PE ที่นำมารีไซเคิลต่อไปได้

สรุปผลการ “แยกขยะ” สามารถแยกขยะได้ 4,992 กิโลกรัม 

ดัดแยกขยะสำเร็จแล้วนำไปพัฒนาต่อยอดได้

ขยะถูกคัดแยกแล้วนอกจากลดการฝังกลับ ยังสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการ Upcycling หรือสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ อย่างขวดพลาสติกทั้งหมดที่รวบรวมได้ในงานจะนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็น รองเท้า เพื่อมอบให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน ผ้าและไวนิลจะถูกใช้เป็นวัสดุสำหรับทำกระเป๋าใบใหม่มอบให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเช่น ไม้จะถูกนำไปสร้างบ้านร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ขยะเศษอาหารจะนำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย สุดท้ายขยะพลาสติกชีวภาพนำไปฝัง เพื่อสลายตัวเป็นปุ๋ย หรือใช้เป็นกระถางเพาะชำต่อไป

สิ่งสำคัญของงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ จึงไม่ใช่อยู่ที่ผลแพ้ชนะในสนาม เมื่อช่วงเวลาแห่งการแข่งขันสิ้นสุดลง มิตรภาพและความทรงจำยังคงอยู่ในใจ แต่ขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นในงานนั้นต้องเดินทางต่อไป…

แนวคิดสำคัญที่ได้จากการจัดขยะในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์

  • ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือต้องลดการสร้างขยะ หรือเปลี่ยนมาใช้ของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการจัดการขยะ ทั้งคนและพลังงาน
  • ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้องสามารถนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ 
  • การจัดกิจกรรมไม่เพียงเป็นการสร้างมิตรภาพและความบันเทิง แต่ยังสมารถขับเคลื่อนความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยการสร้างความร่วมมือจากกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์

รายการอ้างอิง

  • พาฝัน หน่อแก้ว. (2563). Win-Win. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/cu-tu-traditional-football-match/  
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2563). ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 MAKE A CHANGE เปลี่ยน 
  • ปรับ ขยับสังคม. สืบค้นจาก https://tu.ac.th/thammasat-cutu-ball-74
  • EVERYTHING TEAM. (2563). เรียนรู้แนวทาง “ลด เปลี่ยน แยก”
  • ในงานฟุตบอลประเพณีฟุตบอล จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74. สืบค้นจาก https://www.iameverything.co/contents/gc-waste-this-way
คุณชอบเนื้อหาหน้านี้ไหม?
ชอบไม่ชอบ