ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation; EJF) ได้ทำงานเพื่อยุติปัญหามลพิษพลาสติก และเพื่อทะเลที่สะอาดและยั่งยืน Bottle Free Seas (BFS) จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายนี้ และภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี โครงการฯ สามารถลดการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปมากกว่า 1 ล้านขวด!
โครงการ Bottle Free Seas ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ การสำรวจของ EJF พบว่า ชาวกรุงเทพฯ ยินดีใช้บริการตู้เติมน้ำหากสามารถเข้าถึงตู้เหล่านี้ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการตระเวนติดตั้งตู้เติมน้ำสาธารณะตามจุดต่าง ๆ ทั่วกรุง โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายกรุงเทพฯ รีฟิล (Refill Bangkok) เพื่อสร้างทางเลือกในการบริโภคน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย ง่ายต่อการเข้าถึง และยั่งยืน ให้กับผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ
ในปัจจุบัน โครงการ Bottle Free Seas ติดตั้งจุดเติมน้ำไปแล้วทั้งหมด 10 จุด โดยมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในจุดที่มีการสัญจรอย่างคับคั่งของชาวกรุงเทพฯ เช่น ตามสวนสาธารณะต่าง ๆ โครงการ Bottle Free Seas ก็ได้สนับสนุนให้ชาวกรุงเทพฯ หันมาใช้ขวดของตนเองเมื่อเข้าใช้บริการที่สาธารณะเหล่านี้ เป็นการช่วยลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ก่อนขวดเหล่านั้นที่จะลงเอยในกองขยะที่โดยเฉลี่ยแล้วมีน้ำหนักมากกว่า 1,500 ถึง 1,800 ตันต่อวัน
ผลสำรวจของ EJF พบว่า ตู้กดน้ำของโครงการ Bottle Free Seas ช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกไปได้ถึง 100,000 ขวดต่อเดือน และนอกจากนี้ ข้อมูลของ EJF ยังชี้ว่า ตู้กดน้ำเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อขวดน้ำพลาสติกไปได้ไม่ต่ำกว่า 7,205,681 บาท ผ่านการเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคได้สลับบทบาทมาเป็นผู้ใช้บริการตู้กดน้ำ หมายความว่า โครงการนี้ก็ช่วยขจัดขวดพลาสติกไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และช่วยผู้ใช้ไม่ให้เงินไหลออกนอกกระเป๋าไปพร้อมกัน
ในอนาคต กทม. และเครือข่ายกรุงเทพฯ รีฟิลมุ่งมั่นติดตั้งตู้กดน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2,000 จุดภายในปี พ.ศ. 2568 และมุ่งหวังจะติดตั้งให้ได้ถึง 5,000 จุด (หรือเท่ากับ 100 จุดต่อเขต) ในปี พ.ศ. 2569
EJF ระบุว่า ความสำเร็จของโครงการ Bottle Free Seas เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า วิกฤตพลาสติกมีทางออกที่เรียบง่าย เข้าถึงได้ และพร้อมได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะรออยู่ นอกจากนี้ยังชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วการยุติมลพิษพลาสติกต้องเริ่มจากการลดปริมาณการผลิตพลาสติกเป็นอันดับแรก และข้อเสนอนี้ต้องได้รับการยอมรับในการประชุมคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 (Intergovernmental Negotiating Committee; INC-5) ว่าด้วยสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ในเดือนพฤศจิกายนนี้
สตีฟ เทรนท์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง EJF กล่าวว่า “ปัจจุบันเราพบพลาสติกทุกตารางนิ้วบนโลก ตั้งแต่ยอดเขาสูงไปจนถึงท้องสมุทร หรือแม้กระทั่งในร่างกายเราเอง สิ่งที่มักถูกเข้าใจผิดก็คือ เราจำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีราคาสูงหรือแสวงหาทางเลือกอื่นอย่างวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายเองได้เพื่อยุติปัญหานี้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เราต้องการคือการหลีกเลี่ยงการพึ่งพาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่สิ้นเปลืองและกลาดเกลื่อนต่างหาก ระบบของการใช้ซ้ำและการเติมควรได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ในฐานะวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยุติมลพิษพลาสติกและทำความสะอาดโลกของเรา”
“ในการประชุมเจรจาครั้งที่ 5 (INC-5) ณ เมืองปูซานที่จะถึงนี้ รวมไปถึงครั้งต่อ ๆ ไป เราจะเรียกร้องให้มีการลดการผลิตพลาสติก สร้างมาตรฐานการใช้ซ้ำที่ปลอดภัย เสนอร่างกรอบกฎหมายที่รองรับระบบใช้ซ้ำเหล่านี้ และผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกที่จะรับรองการใช้ซ้ำให้เป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหา”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯกล่าวว่า “ขอบคุณ EJF ที่ทำงานเพื่อชาวกรุงเทพฯ ในกรุงเทพฯ เราสร้างขยะพลาสติกมากถึง 1,500 ถึง 1,800 ตันต่อวัน ส่วนมากก็มาจากขวดน้ำที่เราใช้ดื่ม การตั้งจุดเติมน้ำที่ประชาชนสามารถเติมน้ำด้วยขวดพกพาของตนเองก็จะช่วยแก้ปัญหาไปได้มาก”
“ในขั้นต่อไป กทม.ตั้งเป้าขยายจุดเติมน้ำให้ทั่วกรุงเทพฯ โดยปีงบประมาณ 68 นี้ จะมีเพิ่ม 200 จุด ตามหน่วยงานกทม. เช่น สำนักงานเขต ศูนย์อนามัย สนามกีฬา และยังตั้งเป้าส่งเสริมภาคเอกชนให้ติดตั้งเป็น 2,500 จุด เรามาร่วมมือกันลดขยะพลาสติกด้วยการพกขวดมากดน้ำดื่มกัน”
หมายเหตุบรรณาธิการ
โครงการ Bottle Free Seas เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายกรุงเทพฯ รีฟิล (Refill Bangkok) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Norwegian Retailers’ Environment Fund (NREF)
EJF ทำงานทั่วโลกเพื่อให้ข้อมูลเชิงนโยบายและผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ เพื่อเป้าหมายในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เราทำงานเชิงสืบสวนเพื่อเปิดเผยการแสวงประโยชน์และสนับสนุนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นและผู้สื่อข่าวอิสระผู้เป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อควายุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม แคมเปญของเรามีเป้าหมายเพื่อการสร้างอนาคตที่สงบสุข เท่าเทียม และยั่งยืน
เจ้าหน้าที่สืบสวน นักวิจัย ฝ่ายผลิตภาพยนตร์ และเจ้าหน้าที่รณรงค์ของเราทำงานร่วมกับภาคีท้องถิ่นและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ภารกิจของเราในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อมมุ่งมั่นที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของโลก และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ media@ejfoundation.org